top of page

Anatomic Pathology/Clinical Pathology - ศักดา : ศิริราช 113

"คนรอบข้างมีส่วนในความสำเร็จเสมอ

อย่าคิดว่าทุกอย่างที่สำเร็จได้เป็นเพราะเราคนเดียว

ผมว่าทัศนคติแบบนี้จะทำให้เรามีเพื่อน

หรือคนรอบตัวที่ดีคอยสนับสนุน

ทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดีครับ"

Q: สวัสดีครับ ช่วยแนะนำตัวหน่อยครับผม

A: สวัสดีครับ นพ.ศักดา สถิรเรืองชัย จบพบ.ศิริราช รุ่น 113 หลังจากจบก็มาเป็นแพทย์ประจำบ้านที่นิติเวชฯ ศิริราช ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชานิติเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตอนนี้อยู่ในระหว่างลาศึกษาต่อระดับแพทย์ประจำบ้าน (รอบที่ 2) สาขาพยาธิวิทยากายวิภาคและพยาธิวิทยาคลินิก (AP/CP program) ที่ University of Hawaii

Q: ขออนุญาตเรียกคุณต้นนะครับ :)

A: ยินดีครับ

Q: ตอนนี้คุณต้นเรียนจบนิติเวชจากไทยแล้วตัดสินใจมาเรียนต่อ Pathology เพราะอะไรครับ

A: งานนิติเวชมีส่วนที่ต้องใช้ความรู้พื้นฐานทางพยาธิวิทยาหลายด้านในการทำงานครับ เช่น การ autopsy, การตรวจชิ้นเนื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์, งานห้องปฏิบัติการด้าน toxicology, serology, DNA, งานรับรองคุณภาพ etc. ผมมองว่าถ้ามี attending ที่มีความรู้ด้านพยาธิวิทยาก็น่าจะช่วยพัฒนาการเรียนการสอนแพทย์ประจำบ้านนิติเวชได้ดี จริงๆความตั้งใจแรกก็จะเรียนที่ไทยครับ แต่ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง ร่วมกับ mentor ผม (รศ.พญ.สมบูรณ์ ธรรมเถกิงกิจ) จบ American Board ด้วย อาจารย์เลยเชียร์ให้มาทำ American Board และจะได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับ fellow ใน US ได้ด้วย

Q: เนื่องจากคุณต้นเคยเรียนและทำงานทั้งในไทย และเริ่ม train ใหม่ในอเมริกาอยากให้ช่วยอภิปรายความแตกต่างของ ระบบการ train residency ของทั้งสองที่ในด้านต่างๆ หน่อยครับ

A: เท่าที่ผมพอนึกออกตอนนี้ มี 2 ประเด็นครับ คือ เรื่อง recruitment และการควบคุมคุณภาพการฝึกอบรม

1) Recruitment

การสมัครแพทย์ประจำบ้านใน US ใช้ระบบ matching โดยมีหน่วยงานชื่อ National Residency Matching Program หรือ NRMP เป็นผู้ดำเนินการ ผู้สมัครทุกคนเป็นผู้สมัครอิสระไม่มีต้นสังกัด ส่งใบสมัครไป program ต่างๆที่สนใจ แล้วรอเรียกไปสัมภาษณ์ ระบบ matching มีความแฟร์อย่างหนึ่งคือ นอกจากให้ทางสถาบันเลือกผู้เรียนแล้ว ทางผู้เรียนก็เป็นผู้เลือกสถาบันเช่นกัน ผ่านการ ranking หลังจาก interview และ ranking เรียบร้อย ในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปีซึ่งเป็น match day ทาง NRMP ก็จะประกาศว่าผลการสมัครเป็นอย่างไร

ส่วนประเทศไทย อย่างที่ทราบดี ผู้สมัครจะไม่มีโอกาสได้เลือกสถาบันมากนัก เนื่องด้วยภาระงานของแพทย์ใช้ทุนที่แน่น, ความไม่สะดวกในการเดินทางไปสัมภาษณ์หลายสถาบัน ฯลฯ ซึ่งจริงๆผมทราบมาว่าทางอาจารย์ผู้ใหญ่ที่ดูเรื่อง postgrad ในแพทยสภาก็อยากใช้ระบบ matching เช่นกัน เพื่อให้การกระจายแพทย์ประจำบ้านเป็นไปอย่างทั่วถึงทุกๆที่ ปัญหาหลายอย่างที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถใช้ระบบ matching ได้เสียที เท่าที่ผมเคยได้ยินมา ก็เช่น ทางสถาบันฝึกอบรมอยากจะรับสมัครให้ได้แพทย์ประจำบ้านเร็วๆ เต็มๆ จะได้รู้ตัวแน่นอนว่าใครจะมาอยู่บ้าง, ต้นสังกัดส่งคนมาเรียนแบบที่ทางสถาบันปฏิเสธไม่ได้, ทางสถาบันจำกัดจำนวนแพทย์ประจำบ้านที่ต้นสังกัดอิสระ, บางสาขามีการสัมภาษณ์ตัดหน้ากัน เพื่อให้ได้ candidate ที่ดูดีเข้ามาในโปรแกรมก่อนคนอื่น ฯลฯ ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ผมมีความเห็นว่า เป็นเพราะระบบสาธารณสุขในไทย ผูกติดกับภาครัฐอย่างมาก บุคลากรส่วนใหญ่อยู่ในภาครัฐ การฝึกอบรมไม่ได้เป็นการดำเนินการโดยเอกชนล้วนๆแบบที่ US ที่ทั้งคณะแพทย์ ผู้สมัคร และหน่วยงานที่ดำเนินการ (NRMP) เป็นเอกชนทั้งหมด ในขณะที่แพทย์ประจำบ้านในไทยถูกผูกไว้กับเรื่องต้นสังกัด ต้องไปหาทุนจากที่ต่างๆก่อนสมัคร ทางกระทรวงที่เป็นผู้ให้ทุนรายใหญ่ก็ต้องพิจารณาว่าจะเปิดสาขาต่างๆที่ไหนบ้าง กี่ตำแหน่ง และสถาบันฝึกอบรมก็ต้องพิจารณาลำดับความสำคัญโดยต้องเลือกผู้ที่มีต้นสังกัดก่อนเพราะเป็นเรื่องการกระจายความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ฯลฯ การที่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องมากแบบนี้ ส่งผลให้ยังไงๆการรับสมัครแพทย์จำบ้านไทยก็คงไม่ได้ใช้ระบบ matching อีกนาน

2) การควบคุมคุณภาพการฝึกอบรม

ในไทย องค์กรที่เข้ามาควบคุมการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านก็คือราชวิทยาลัยต่างๆ ส่วนสถาบันต้นสังกัดเช่น ทางคณะหรือมหาวิทยาลัยก็อาจจะเข้ามาตรวจการฝึกอบรมบ้างเป็น internal audit แต่ใน US นอกจาก American Board สาขาต่างๆ จะมีองค์กรใหญ่ที่ชื่อ ACGME หรือ Accreditation Council for Graduate Medical Education ควบคุมการฝึกอบรมแบบค่อนข้างเข้ม คือถ้าไปดูมาตรฐานการฝึกอบรม (ของพยาธิดูได้ที่ https://www.acgme.org/Portals/0/PFAssets/ProgramRequirements/300_pathology_2016.pdf) จะเห็นว่าบางข้อมีมาตรฐานสูงมาก เช่น ข้อ II.D.1. The program must provide each resident with a designated work area and a computer with Internet access และทุกๆปีก็จะมีการ survey ว่าโปรแกรมไหน violate ระเบียบการฝึกอบรม ถ้ามี resident โวยมาก ก็จะมี site visit ตามมา หรือแม้แต่ช่วง matching ถ้าโปรแกรมตุกติกแอบรับสมัครก่อน หรือแอบบอกคนสมัครรอบ scramble ก็จะโดน NRMP ขึ้นบัญชีไว้

อาจจะมีคนแย้งว่ามาตรฐานสูงขนาดนี้ เขียนได้แต่ในกระดาษ ซึ่งผมเห็นว่าในทางปฏิบัติก็อาจมีหลายโปรแกรมไม่สามารถปฏิบัติตามได้ แต่การที่มีระเบียบชัดเจน และมีช่องทางในการตรวจสอบก็ทำให้เหล่าผู้มีส่วนได้เสียเกิดความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าการฝึกอบรมมีการควบคุมดูแลจากภายนอก

Q: คิดว่าทั้งสองที่มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้างครับ ช่วยอภิปรายเป็นข้อๆ

A: ขออภิปรายเป็นภาพรวมแล้วกันครับ เพราะผมเองก็ไม่ได้เรียนพยาธิในไทย

อย่างที่บอกเมื่อสักครู่ว่าความแฟร์อย่างนึงของระบบ matching ที่ได้สัมผัสคือ ไม่ใช่แค่โปรแกรมเลือกผู้สมัคร ผู้สมัครก็มีสิทธิเลือกโปรแกรมได้ด้วย การแข่งขันแบบนี้ ทางโปรแกรมก็ต้องพัฒนาให้ดึงดูดผู้สมัครที่มีโปรไฟล์ดีๆด้วยสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น สนับสนุนการวิจัย, สนับสนุนการศึกษาต่อ, ให้มีช่วง elective เยอะๆ, เอา staff ที่ malignant ออกไป, ดึงคนเก่งๆให้อยู่ต่อเป็นอาจารย์ ฯลฯ คล้ายตลาดเสรีในระบบทุนนิยมที่บีบให้ต้องพัฒนา ส่วนข้อเสีย คือ ภาระการเงินที่สูงมากทั้งค่าสมัครและค่าเดินทางไปสัมภาษณ์ ร่วมถึงทรัพยากรที่โปรแกรมต้องทุ่มเทให้กับการคัดเลือกผู้สมัครเข้ามาศึกษา

สิ่งหนึ่งที่คิดว่าการฝึกอบรมในไทยเหนือกว่าแน่ คือ ทักษะด้านหัตถการครับ โดยเฉพาะการได้เรียนจากอาจารย์แพทย์ไทยที่สะสมประสบการณ์กันมาตอนเป็นพชท. มาต่อแพทย์ประจำบ้าน แล้วทำงานตั้งแต่อายุน้อยๆ ถ้าเป็นต่างประเทศนี่ กว่าจะได้เป็นหมอก็อายุมากแล้ว การฝึกทักษะอาจจะด้อยกว่าหมอไทยบ้าง

Q: ในส่วนของ นศพ ที่นี่ต่างกับที่ไทยยังไงครับ

A: อย่างที่หลายๆคนบอกครับ คือ เรื่องวุฒิภาวะ เอาตั้งแต่ ถ้าอยากเข้าเรียนคณะแพทย์ในอเมริกา นักเรียน high school ก็ต้องเริ่มจากเข้าเรียน college ดีๆ ให้ได้จบปริญญาตรีด้วยเกรดดีๆ เรียนเก่งอย่างเดียวไม่พอนะครับ ต้องพยายามสร้าง port folio ให้ดีๆ ไปสมัครคณะแพทย์ก็ต้องสัมภาษณ์ให้ดีๆ สร้างความประทับใจ ทางบ้านก็ต้องมีรายได้พอสมควร ถึงจะสามารถไปกู้เงินมาจ่ายค่าเทอมได้ ถ้าเทียบกับนักเรียนไทย ตั้งใจเรียนม.ปลายหน่อย สอบให้ได้คะแนนดีๆก็ได้เข้าคณะแพทย์แล้ว เรื่องฐานะทางบ้านก็ไม่เป็นปัญหา ยังไงก็ขอทุนคณะได้ นศพ.ที่ US เขาเริ่มจากติดลบ ความอยากเป็นหมอมันก็มากกว่านักเรียนม.ปลายไทย

ไม่ใช่ว่านศพ.ไทยไม่ดีนะครับ แต่ผมมองว่ามันเป็นเรื่องของระบบ หรือของสังคมไทย ที่ทำให้นักเรียนขยันถึงแค่ม.ปลาย พอเข้าคณะแพทย์ได้ก็พอแล้ว นศพ.จำนวนหนึ่งก็ไม่รู้ว่าจบไปจะทำอะไรเมื่อจบพบ., ใช้ทุนครบ, จบแพทย์ประจำบ้าน ในขณะที่ US ประเทศกว้างใหญ่มีที่ให้ไปเยอะ

Q: เล่าเรื่องสนุกๆ ระหว่าง train ในช่วงปีที่ผ่านมาสักเรื่องได้ไหมครับ

A: ช่วงที่ผ่าน rotation general anatomic pathology ได้ทำ autopsy ก็พบว่าที่ UH นี่ให้เดนท์ทำเองค่อนข้างมากครับ คือไม่มีผู้ช่วย (pathologist assistant) มาให้ ถ้ามีเดนท์ว่าง 2 คน เดนท์ก็ต้องทำกันเองหมด ตั้งแต่เอาศพออกจากตู้เย็น, เอาศพขึ้นเตียง, ลงมีด, evisceration เสร็จแล้วก็เย็บศพ, เก็บศพเข้าตู้เย็น, ล้างเตียง, ล้างเครื่องมือ, ถูห้อง ที่ไม่เคยทำก็ได้ทำ คือการเปิดกะโหลกและ fix brain ใน 10% formalin เพราะอยู่ไทยนี่มีผู้ช่วยทำให้หมด ผมก็ได้ใช้เลื่อยไฟฟ้าเปิด skull cap เอง เอา brain ออกมาร้อยเชือกแล้วเอาไปลอยใส่ถัง formalin เอง ก็สนุกดีครับ ถึงแม้จะทำ autopsy มาเยอะ แต่มาตอนแรกๆก็ต้องอยู่ under supervision senior resident ไปก่อนเพื่อให้รู้ระบบ พอเข้าที่แล้ว ผมก็ได้สอนเพื่อนๆเดนท์ 1 ทำ autopsy ด้วย

Q: คุณต้น พาครอบครัวมาด้วย คิดว่าอะไรเป็น Challenge สำคัญของการพาครอบครัวมาใช้ชีวิตที่นี่ครับ

A: ความไม่รู้ครับ คือถ้ามาอยู่ใหม่ๆ ด้วยสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมือนเดิมเลย มันย่อมสร้างความกังวลใจให้กับคนทีมาด้วย แต่ถ้าเตรียมข้อมูลดีๆ มีการวางแผน ปรึกษาพี่ๆน้องๆที่มาอยู่ก่อน การใช้ชีวิตก็ไม่ใช่เรื่องยากครับ

Q: ชอบฮาวายตรงไหนครับ

A: อากาศไม่หนาวครับ บรรยากาศในเมืองก็สบายๆ คนใจดี ไม่มีบีบแตรบนถนน นอกจากนี้ยังมีสถานที่ให้ไปเที่ยวทุกอาทิตย์ถ้าอยากไป อาหารหลากหลายและมีความเอเชียสูง

Q: ไม่ชอบฮาวายตรงไหนครับ

A: ค่าครองชีพสูง ของแพงครับ เนื่องจากเป็นเกาะทำให้ต้องขนส่งสินค้าทุกอย่างทางเรือและเครื่องบิน แต่ถ้าบริหารเงินดีๆก็อยู่ได้ครับ

Q: สุดท้ายนี้อยากให้ แนะนำเคล็ดลับให้พี่ๆ น้องๆ ที่มีความต้องการเข้าแมช หน่อยครับ

A: มีการตั้งเป้าหมายครับ มีคำฝรั่งเรียกว่า have the end in mind คือ ต้องทำใจก่อนว่าการแมชมันมีความเสี่ยง มันใช้ทรัพยากรเยอะ กำลังใจก็ต้องเยอะ ถ้าแมชไม่ได้จะทำอะไรต่อ แนะนำว่าควรมีแผนสำรองไว้ เช่น จะรอแมชปีหน้า จะเรียนที่ไทย หรือจะไปทำอย่างอื่น แล้วก็ตั้งใจทำตามแผนที่วางไว้จริงๆ ผมคิดว่าการมีแผนสำรองจะทำให้จิตใจมีความเข้มแข็งและตัดสินใจไปได้อย่างเหมาะสมครับ

ขอแบ่งปันเรื่องของผม เผื่อจะเป็นกำลังใจให้พี่ๆน้องๆได้ ตอนแรกผมก็กะว่าจะเรียนพยาธิที่ไทย แต่ด้วยปัญหาเรื่องต้นสังกัด จบนิติเวชฯแล้วยังไปเรียนไม่ได้ ผมก็เลยไปเรียนเนติบัณฑิตเพิ่มระหว่างรอเวลาบรรจุเป็นอาจารย์ พอเรียนเสร็จ ได้บรรจุแล้ว ก็สมัครสอบ USMLE เพื่อเตรียมแมช ปรากฏว่าสอบ step 2 CS รอบแรกไม่ผ่าน มาผ่านในรอบสอง เลยต้องรอแมชปี 2016 แทนที่จะแมชปี 2015 ระหว่างรอแมชผมเลยพยายามทำ paper เพิ่ม พร้อมๆกับทำเรื่องขอตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ระหว่างรอแมช จนสามารถส่งเรื่องให้คณะก่อนบินไป interview พอกลับมาจาก interview trip ก็มาแก้เอกสารผศ.จนส่งเรื่องให้มหาวิทยาลัยได้ตอน December 2015 และมาแมชได้ในปี 2016 มาคิดดูย้อนหลัง ก็รู้สึกว่ามันไม่ได้เสียหายที่ไม่ได้เข้าแมชปี 2015 เพราะได้เอาเวลาไปทำตำแหน่งผศ. และก็ได้ลูกสาวก่อนไปเรียนด้วย

ข้อคิดอีกอย่างคือคิดเสมอว่าคนรอบข้างมีส่วนในความสำเร็จเสมอ อย่าคิดว่าทุกอย่างที่สำเร็จได้เป็นเพราะเราคนเดียว ผมว่าทัศนคติแบบนี้จะทำให้เรามีเพื่อนหรือคนรอบตัวที่ดีคอยสนับสนุนทำให้ชีวิตดำเนินไปได้ด้วยดีครับ


RECENT POSTS:
SEARCH BY TAGS:
No tags yet.
bottom of page