top of page

มานพ - ศิริราช : Medical Genetic


"นักเรียนแพทย์ไทยที่ไปเทรนเมกาได้

ต้องมีความมุ่งมั่นสูงมาก

เป็นการเดินทางระยะยาว

หนทางยาวไกล แต่ละขั้นมีอุปสรรคขวากหนามเยอะ

คนที่สำเร็จได้ต้องมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ "

Q: สวัสดีครับ รบกวนแนะนำตัวเองหน่อยครับ

A: สวัสดีครับ ชื่อ มานพ พิทักษ์ภากร ครับ

จบแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

Internal Medicine Residency จาก University of Illinois at Chicago

Clinical Genetics และ Clinical Molecular Genetics Fellowship จาก National Human Genome Research Institute (NHGRI), National Institutes of Health (NIH) ครับ

ปัจจุบัน ทำงานอยู่ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลครับ

Q: ขออนุญาตเรียกว่าพี่หมูนะครับ

A: ยินดีครับ :D

Q: อยากให้เล่าเรื่องสนุกๆ ระหว่างเทรนสักเรื่องนึงครับ

A: สมัยเป็น resident ปี 2 ผ่านหน่วยอยู่แล้วโดนจู่ ๆ เพจเรียกที่ floor ครับ โทรกลับไปถามแบบงง ๆ คิดว่ามีเคส consult หน่วยด่วน ปรากฏว่าโดนเพจเรียกให้ไปช่วยแทง subclavian เพราะ chief ไม่กล้าทำ เนื่องจาก program director เป็นเจ้าของไข้ เลยเรียกให้เรามาทำให้ครับ

สมัยเทรนที่เมกา ผมโชคดีตรงที่เคยเป็นแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ที่ศิริราชอยู่จนเกือบจบ (ยังไม่ได้สอบบอร์ดก็ไปเมกาซะก่อน) เลยพกความรู้และ clinical skill ไปเมกาเต็ม ๆ ก็ชดเชยจุดอ่อนเรื่องภาษาและความไม่คุ้นชินกับระบบได้ ตอนไปเป็น intern ผมเริ่ม rotation แรกคือ ICU เราก็เป็นคนสอน chief แทง central line ครับ ตลกดี เพราะเราสอนเขาทำเสร็จแล้ว เขาต้องเป็นคนเซ็นต์ใน procedure log book ให้เรา เหมือนว่าเขารับรองว่าเราทำ under supervision เขาครับ :D

หลังจากนั้นก็สอน resident และนักเรียนแพทย์ตอนอยู่ floor rotation ประจำทั้งเรื่องความรู้และหัตถการ

Q: จากที่พี่หมู mentor เด็กมามากมาย นศพ นสพ รุ่นเก่าๆ และรุ่นใหม่แตกต่างกันในแง่ไหนบ้าง และคนที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จจะเป็นคนบุคลิกแบบไหนครับ

A: ผมว่านักเรียนแพทย์ไทยที่ไปเทรนเมกาได้ต้องมีความมุ่งมั่นสูงมากครับ คนที่เคยผ่านมาแล้วคงเห็นด้วยกับผมว่าการไปเทรนที่เมกานั้นยาก แต่เป็นไปได้ เป็นการเดินทางระยะยาว หนทางยาวไกล แต่ละขั้นมีอุปสรรคขวากหนามเยอะ คนที่สำเร็จได้ต้องมุ่งมั่นไม่ยอมแพ้ง่าย ๆ

หมอไทยที่ไปเมกาได้จากอดีตถึงปัจจุบันผมว่าเยี่ยมยอดทุกคนครับ แต่ถ้ามองนักเรียนแพทย์ในภาพรวมเทียบกันระหว่างสมัยผมมาจนปัจจุบัน ผมว่านักเรียนปัจจุบันมี maturity น้อยลงมากครับ ต้องการอะไรด่วน ๆ ชอบ shortcut ชอบอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ ไม่ชอบค้นหาหรือสร้างขึ้นเอง ความสำนึกรับผิดชอบน้อยลง gentleman system ที่เคยใช้ได้ ก็ลดลงมากอย่างน่าใจหายครับ ทุกอย่างต้องมีการวางกฏเกณฑ์เพราะมีความพยายามจะ push to the limit ให้มากที่สุดตราบใดที่ยังไม่ผิดกฏเกณฑ์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นลักษณะของเด็ก generation ใหม่ ๆ ด้วยครับ เหมือน ๆ กันหมด

แต่ถ้าดูเป็นรายบุคคล คนดี คนเก่ง ที่จะประสบความสำเร็จ กี่ยุคสมัยไม่ว่าอดีตหรือปัจจุบันส่วนใหญ่ก็ยังมีลักษณะคล้าย ๆ เดิมอยู่ มันเหมือนเป็น key character of success คือต้องมีความมุ่งมั่น, ขยัน ไม่เกี่ยงงานหนัก, stay active และมีความต้องการจะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

Q: จากประสบการณ์ของพี่ นศพ เมกัน กับ นศพ ของเราแตกต่าง หรือเหมือนกัน ยังไงบ้างครับ

A: นักเรียนแพทย์ไทยโดยรวมเก่งกว่า แต่นักเรียนแพทย์เมกันมีความรับผิดชอบ มีความเป็นผู้ใหญ่สูงกว่า ที่เหลือก็ไม่ต่างกันนักครับ

Q: มีประเด็นไหนที่เด็กของเราควรปรับปรุงเพื่อการประสบความสำเร็จในอนาคตบ้างครับ

A: ยังเน้นเหมือนเดิมครับ maturity (และ responsibility ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของ maturity หรือบางคนอาจมองไกลไปถึง professionalism) ของพวกนี้สอนกันได้ยาก ต้องสร้างเอง

Q: พี่หมูเป็นอาจารย์ศิริราช การเป็นอาจารย์ที่ไทยต่างกับทำงานเป็นอาจารย์ในอเมริกาในแง่ไหนบ้างครับ

A: ระบบอาจารย์ของคณะแพทย์ (โดยเฉพาะอาจารย์ทางคลินิก) ในเมืองไทยทำงาน 3 ด้านคือ สอน, บริการ, วิจัย เหมือน ๆ กันหมด โดยรวมทำงานหนัก แต่ความก้าวหน้าในอาชีพมีหลากหลายกระจายต่างกันไป เพราะระบบการประเมินมันไม่ชัดเจน ต่างกับในต่างประเทศที่แยก track ชัดเจน คือ academic staff หรือ tenured system (research + teach) และ clinical staff (service + teach) ต่างกันตรงที่มาของรายได้ (income ส่วนนึงจาก teaching คือมหาลัยจ่าย บวก income จาก research grant หรือจาก clinical services แล้วแต่ track) และประเมินด้วย output เป็นระยะ (ซึ่งแตกต่างกันระหว่าง 2 กลุ่มนี้ กลุ่ม academic staff ดูที่ research grant + publication ส่วน clinical staffs ดูที่ business income ขององค์กรเป็นหลัก) แม้จะดูออกแนวทุนนิยมไปหน่อยแต่มันชัดเจนไม่คลุมเครือครับ

ข้อดีของเมืองไทยคือระบบมันเป็นระบบเอื้อเฟื้อฉันพี่น้อง แต่องค์กรผลักดันสู่ความเป็นเลิศระดับโลกได้ยาก ส่วนระบบต่างประเทศก็ money speaks for everything ต้อง stay active ใครไม่ประสบความสำเร็จเป็น the weakest link จะโดนกำจัดครับ คนที่มี potential สูง ๆ คนที่ highly productive จะไปไกลมากกับระบบต่างประเทศเพราะเอื้อกับคนเก่งมากกว่า

ใครชอบแบบไหนขึ้นกับ lifestyle ของแต่ละคนด้วยมั้งครับ :D

Q: ได้ยินว่าเขียนหนังสือใหม่กับ เปิดเพจใหม่ เชิญขายของได้เลยครับ :)

A: เพจ Cancer Precision Medicine เป็นเพจที่ตั้งขึ้นสำหรับกลุ่มวิจัย Precision Medicine ใน Health Cluster ของ Research University Network (เครือข่ายวิจัย 7 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย มหิดล, จุฬา, ธรรมศาสตร์, เกษตร, เชียงใหม่, ขอนแก่น และ สงขลา) ที่ผมรับหน้าที่เป็น Cluster Leader และเป็น Admin ของเพจครับ ติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/CAPrecisionMed/

ส่วนหนังสือผมเขียนร่วมกับอาจารย์อีก 2 ท่านครับเกี่ยวกับ molecular genetics และ cancer genetics เพิ่งออกสด ๆ ร้อน ๆ สี่สี 300 หน้า 800 บาท ลดเหลือ 599 ครับ :D สั่งจองได้ที่ https://goo.gl/5Mfj0d

พี่หมูได้เขียน Guideline ในการมาเทรนที่อเมริกา เมื่อ 16 ปีที่แล้วและเป็น เอกสารชิ้นแรกๆ ที่หลายๆคนใช้เป็นข้อมูลและประสบความสำเร็จในการ Match เรื่อยมาครับ เนื้อหาหลายอย่างยังทันสมัยและใช้ได้ตลอด ใครสนใจสามารถ โหลดได้ที่นี่ครับ


RECENT POSTS:
SEARCH BY TAGS:
No tags yet.
bottom of page